เรื่องของไอโอดีน
เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “เรื่องของไอโอดีน”
ไอโอดีนเป็นธาตุอาหาร ที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารและน้ำดื่มเท่านั้น อาหารที่มีไอโอดีน นอกจากเกลือแล้ว แหล่งอาหารที่มีไอโอดีนอยู่มาก ก็คืออาหารทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา สาหร่าย ส่วนอาหารอื่นๆ ที่มีไอโอดีนตามธรรมชาติ และเพิ่มไอโอดีนเข้าไปด้วย ได้แก่ ขนมปัง น้ำผลไม้กล่อง เนย โยเกิรต์ นม นมถั่วเหลือง อาหารเช้าซีเรียล เป็นต้น
1 ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่จำเป็นของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็ก หญิงมีครรภ์ และวัยชรา ร่างกายจะนำไอโอดีนไปใช้ผ่านทางต่อมไทรอยด์ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการใช้พลังงานของร่างกาย และควบคุมการทำงานต่างๆ ของเซลล์ทุกชนิด โดยเฉพาะ สมอง หัวใจ และกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเซลล์ทุกชนิด โดยเฉพาะในช่วงเป็นทารกในครรภ์
2 คนที่ขาดไอโอดีนอาจมีความเสี่ยงในการเป็นต่อมไทรอยด์โต (คอพอก) และอาจทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เชื่องช้า อ่อนเพลีย ประสิทธิภาพการทำงานทุกระบบลดลง หัวใจเต้นผิดปกติ รวมไปถึงอาการบวมที่เท้าได้ หากหญิงมีครรภ์ไม่ได้รับไอโอดีนที่มากเพียงพอ อาจทำให้ทารกในครรภ์มีร่างกาย และสมองที่เจริญเติบโตช้ากว่าปกติ หรืออาจมีความเสี่ยงที่จะมีความพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ตาเหล่ รูปร่างแคระแกร็น เติบโตช้า เรียนรู้ช้า เฉื่อยชา ไอคิวต่ำกว่าปกติ หรือสติปัญญาเสื่อมจนถึงปัญญาอ่อนได้
3 หากร่างกายได้รับไอโอดีนมากเกินไป อาจก่อให้เกิดโทษ รวมถึงผลข้างเคียงได้ เช่น เกิดผื่นคันจากการแพ้ เป็นสิวมากขึ้น กล้ามเนื้อมือ เท้าชา และอ่อนแรงลง ไอโอดีนที่มากเกินไปจะไปยับยั้งการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนจนอาจนำไปสู่ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้ ไปจนถึงภาวะผิดปกติต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ต่อมไทรอยด์อักเสบ หรือโรคภูมิต้านตนเองของต่อมไทรอยด์ โดยมีอาการเหนื่อยง่าย ผอมผิดปกติ โดยปกติร่างกายคนเราต้องการสารไอโอดีนรวมกันแล้วไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือ เพียงแค่ 150 ไมโครกรัม/คน / วัน เท่านั้น แต่ก็ขาดไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะร่างกายไม่สามารถสะสมไว้ได้ ส่วนที่เหลือจะถูกขับออกจากร่างกาย จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีสารไอโอดีนทุกวัน