เรื่องของพริก
เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “เรื่องของพริก”
พริกมีหลายชนิด ในไทยเราสามารถแบ่งพริกตามกลุ่มของขนาดเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพริกขนาดใหญ่ ได้แก่ พริกหวาน พริกหยวก และพริกหนุ่ม กลุ่มพริกขนาดกลาง ได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกจินดา และกลุ่มพริกขนาดเล็ก ได้แก่ พริกกะเหรี่ยง พริกขี้หนู พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูนก
1 พริกหวานและพริกหยวก พริกหวานจะมีขนาดใหญ่กว่า รูปทรงอ้วนกลมมีรอยหยัก และมี 3 สี มักนำไปทำเมนูสลัดหรือเป็นผักย่างเคียงกับสเต็ก ส่วนพริกหยวกคือพริกสีเขียวอ่อนทรงยาวรี มักนำไปทำเมนูผัดพริก ซึ่งพริกทั้ง 2 ชนิด มีรสชาติไม่เผ็ดเหมือนกัน
2 พริกหยวก และพริกหนุ่ม สีเดียวกัน ทรงรียาวคล้ายกัน แต่พริกหยวกจะอ้วนป้อมกว่า ส่วนพริกหนุ่มมจะเรียวแหลมกว่า มักเอาไปย่างทำน้ำพริกหนุ่ม
3 พริกชี้ฟ้า และพริกจินดา เป็นที่สับสนกันมาก เพราะพริกจินดาก็มีลักษณะของการออกผลที่ชี้ขึ้นฟ้าเหมือนกับพริกชี้ฟ้า มีหลายสีเหมือนกัน บางท้องที่ก็เลยเรียกพริกชี้ฟ้าเป็นชื่อรวมๆ ก่อนจะแยกพันธุ์ไปเป็นพริกจินดา พริกหัวเรือ พริกห้วยสีทน พริกยอดสน ฯลฯ เราสามารถแยกแยะแบบกว้างๆ ได้ว่า พริกชี้ฟ้าคือพริกที่มีขนาดใหญ่กว่า และเผ็ดน้อยกว่า
4 พริกกะเหรี่ยง และพริกขี้หนู พริกขนาดเล็กเหมือนกัน เผ็ดเหมือนกัน แต่ต่างกันที่รูปร่างหน้าตาและการนำไปใช้ พริกกะเหรี่ยงจะมีลักษณะของผลที่ขรุขระกว่า มีสีที่อ่อนกว่า 1 สเต็ปคือจะออกเป็นสีเขียวอ่อนและสีส้ม และให้รสเผ็ดกว่าพริกขี้หนู
5 พริกขี้หนูสวน จุดเด่นคือผลที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว บางคนเรียกพริกขี้หนูสวนว่าพริกขี้หนูหอม แต่ถ้ามีขนาดเล็กจิ๋วผลสั้นกุดมากๆ จะเรียกว่าพริกขี้หนูนก ซึ่งหาซื้อยาก
6 พริกยังอุดมด้วยวิตามินแร่ธาตุ พริกขี้หนูสวนสีแดงมีทั้งวิตามินเอ บีหนึ่ง บีสอง แมกนีเซียม โพแทสเซียม เหล็ก พริกขี้หนูสวนสีเขียวมีโปรตีนสูง พริกเหลืองมีเหล็กสูง พริกชี้ฟ้าแดงมีวิตามินซีสูง คนโบราณก็เลยกินพริกเผ็ดร้อนเพื่อช่วยลดน้ำมูก บรรเทาอาการหวัด ช่วยกระตุ้นการเจริญอาหาร ส่วนสีของพริกที่เป็นสีแดง เหลือง เขียว ก็มีเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย