อาหารเปลี่ยนอารมณ์
เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “อาหารเปลี่ยนอารมณ์”
เมื่ออารมณ์ไม่คงที่ แปรปรวน หงุดหงิดบ่อย การปรับอาหารที่ทานตามสภาพอารมณ์ ณ เวลานั้นจะช่วยปรับเปลี่ยนอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ ดังนี้
-โปรตีนช่วยเพิ่มความตื่นตัว ในโปรตีนมีกรดอะมิโนที่ชื่อว่าไทโรซีน ทำหน้าที่ในการเพิ่มสารโดพามีน สารอีพิเนฟรินและสารนอร์อีพิเนฟริน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวและทำให้ร่างกายมีเรี่ยงแรงมากขึ้น ทำให้เกิดความกระปรี้กระเปร่ามากกว่าเดิม ดังนั้นคนที่เกิดความรู้สึกเอื่อยเฉื่อยไม่ค่อยร่าเริงหรือกระปรี้กระเปร่า ก็ควรเน้นการกินโปรตีนสูงเป็นหลัก เช่นเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ปลา เนยแข็ง ไข่ นมถั่วเหลือง เต้าหู้และถั่วต่างๆ
-คาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี ช่วยลดความเครียด สร้างความผ่อนคลาย เพราะอาหารคาร์โบไฮเดรตแบบไม่ขัดสีนั้น จะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น และมีการนำเอาสารทริปโตเฟนไปใช้ในการสร้างสารเซโรโทนินจึงทำให้อารมณ์ดีและมีความสุข อย่างไรก็ตามหากกินมากเกินไปก็จะทำให้สารเซโรโทนินถูกผลิตออกมามาก จนส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนมากกว่าปกติได้ ในคนที่ลดน้ำหนักจึงมักจะเริ่มมีอาการเศร้าซึมในช่วงสัปดาห์ที่ 3 เนื่องจากการลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลง ทำให้ระดับเซโรโทนินลดต่ำลงกว่าปกติ ส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ หากต้องการให้ภาวะอารมณ์กลับสู่ปกติก็ต้องกินคาร์โบไฮเดรตที่ดี ซึ่งได้แก่ ข้าวโพด ลูกเดือย ฟักทอง เผือก มัน ขนมปังโฮลวีตและมูสลี เป็นต้น
-ดื่มคาเฟอีน ลดอาการซึมเศร้า คาเฟอีนที่พบในกาแฟ ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวและสดชื่นมากขึ้นได้หลังดื่ม คนที่มีอาการซึมเศร้าบ่อยๆ แค่ดื่มกาแฟวันละ 1-2 ถ้วย ก็อาจช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ควรดื่มหลังจากเวลา 15.00 น. ขึ้นไป เพราะสารคาเฟอีนที่ค้างอยู่จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับและส่งผลเสียได้ กรดโฟลิกเป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่สามารถลดอารมณ์ซึมเศร้าและทำให้เกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น โดยจากการวิจัยให้คำแนะนำว่าควรกินกรดโฟลิกให้ได้วันละ 200 ไมโครกรัม แล้วอาการซึมเศร้าจะดีขึ้น โดยกรดโฟลิกปริมาณดังกล่าวนี้สามารถรับได้จากผักโขมสุก 1 ถ้วยและน้ำส้ม 1 แก้ว