เคล็ดลับก้นครัวเคล็ดลับอื่นๆ 1 พ.ค. 67

ข้อควรระวังในการรับประทานอาหารปิ้งย่าง

Share :

เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “ข้อควรระวังในการรับประทานอาหารปิ้งย่าง”

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการรับประทานอาหารปิ้งย่าง กรมอนามัย เตือนว่าการรับประทานอาหารปิ้งย่างหรือรมควันเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการได้รับสารอันตราย 3 ชนิด คือสารไนโตรซามีน  สารไพโรไลเซต และสารพีเอเอช

1 สารไนโตรซามีน  สามารถพบในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง และในเนื้อสัตว์ที่ใส่สารไนเตรท ประเภทแหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ ทำให้เสี่ยงเป็นสารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร

2 สารไพโรไลเซต สารนี้พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหาร ปิ้ง ย่าง สารกลุ่มนี้บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอะฟลาทอกซินตั้งแต่ 6-100 เท่า

3  สารพีเอเอช หรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน เป็นสารชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยสารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง หรือรมควัน ของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วย เช่น หมูย่างติดมัน ไก่ย่างติดมัน หากรับประทานเข้าไปเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ  

4 ทานหมูกระทะอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ หมูที่นำมาปิ้งย่างในร้าน หากรับซื้อมาจากผู้ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน แล้วยังปิ้งย่างไม่สุก 100% ทานเข้าไปอาจมีความเสี่ยงรับเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ โดยจะมีอาการคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน หูหนวก ชัก หรืออาจเป็นอัมพาต บางรายอาจปอดอักเสบ สายตาพร่ามัว และหูหนวกได้ นอกจากนี้ยังมีเชื้อโรคอื่นๆ อีกเพียบ หากทานโดยใช้ความร้อนที่ไม่มากเพียงพอที่จะฆ่าเชื้อโรคเหล่านั้นได้  จึงไม่ควรทานชิ้นเนื้อที่ไม่สุก ก่อนทานควรใช้ช้อนหั่นเนื้อตรงกลางออก เพื่อตรวจสอบเนื้อสุกแล้วหรือไม่

5 ควรมีการแยกตะเกียบหยิบชิ้นเนื้อปิ้งย่าง ออกจากตะเกียบรับประทาน เพื่อป้องกันการปนเปื้อน

6 ก่อนทานควรเลือกร้านที่คุณภาพของอาหารดี สะอาด ถูกหลักอนามัย ราคาไม่ถูกมากเกินไป และที่สำคัญคือควรทานในปริมาณที่พอเหมาะ  ไม่ทานบ่อยจนเกินไป หลีกเลี่ยงส่วนมันและส่วนที่ไหม้เกรียม เลือกทานทั้งเนื้อและผัก ทานให้หลากหลาย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ