ข้อควรระวังในการรับประทานผักคะน้า
เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “ข้อควรระวังในการรับประทานผักคะน้า”
คะน้าเป็นพืชผักใบเขียวที่นิยมรับประทานกันทั่วไป เป็นผักที่หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง คะน้า เป็นผักที่รวมแหล่งวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลาย ชนิด เช่น มีวิตามินเอ มีวิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส การรับประทานผักคะน้าจึงช่วยเพิ่มสารอาหารที่ดีต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
1 ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่ผักคะน้านั้นได้ชื่อว่าเป็นผักที่พบสารพิษตกค้างหรือยาฆ่าแมลงมากที่สุด อีกทั้งยังต้องระวังในเรื่องของธาตุแคดเมียมที่อาจจะปนเปื้อนมากับน้ำและพื้นดินด้วย เพราะหากร่างกายได้รับเข้าไป จะเข้าไปสะสมในตับและไต ก่อให้เป็นพิษได้ ก่อนนำมารับประทานจึงควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง ด้วยการล้างน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หรือจะล้างด้วยการใช้น้ำก๊อกไหลผ่านอย่างน้อย 2 นาที หรือจะใช้สารละลายอื่น เช่น น้ำยาล้างผัก น้ำส้มสายชู เกลือละลายน้ำ เป็นต้น เพื่อช่วยลดปริมาณสารตกค้างหรือยาฆ่าแมลง
2 ไม่ควรรับประทานผักคะน้าแบบดิบ เพราะมีสารกอยโตรเจน ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารที่ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนไปใช้สร้างฮอร์โมนธัยรอกซินได้น้อยกว่าปกติ หรือทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำยิ่งขึ้น ซึ่งการได้รับในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ร่างกายขาดแร่ธาตุไอโอดีน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคคอพอก แต่หากนำผักคะน้าไปปรุงสุก สารกอยโทรเจนก็จะละลายหายไปกับความร้อน จึงควรรับประทานผักคะน้าแบบปรุงสุกมากกว่าแบบดิบ เพื่อช่วยลดปริมาณสารกอยโทรเจน ทางที่ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักชนิดซ้ำ ๆ เดิม ๆ และควรเลือกรับประทานผักให้หลากหลาย ร่างกายจะได้ประโยชน์มากที่สุด
ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน เนื่องจากผักคะน้ามีวิตามินเคสูง คือมีปริมาณ 772.5 ไมโครกรัม ต่อปริมาณ 1 ถ้วย ซี่งวิตามินเคมีคุณสมบัติช่วยในเรื่องการแข็งตัวของเลือด การรับประทานคะน้าอาจลดประสิทธิภาพของยากลุ่มนี้ลง จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนบริโภค