เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผักพาย
ผักพาย พืชแปลกชื่อ ตามดู “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผักพาย”
ผักพายหรือผักก้านจอง และมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น ผักคันจอง คันช้อน นางกวัก บัวลอย ตาลปัตรฤาษี ตาลปัตรยายชี บอนจีน เป็นต้น เป็นพืชที่พบได้ในทุกภาค มักเติบโตในพื้นที่มีน้ำขัง บริเวณชายน้ำ หรือริมขอบแหล่งน้ำขัง หนองบึง หรือบ่อน้ำ ที่ระดับน้ำตื้น ประมาณ 30-50 ซม. แต่ไม่สามารถเติบโตได้ในแหล่งน้ำลึก เพราะลำต้นจะต้องโผล่พ้นน้ำสำหรับสังเคราะห์แสง ลำต้นสามารถแตกหน่อเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้
1 ผักพายเป็นผักที่มีก้านดอก และก้านใบอ่อนเป็นก้านสามเหลี่ยม มีก้านดอกลักษณะสามเหลี่ยม อวบน้ำ พองลม ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร เป็นส่วนที่นิยมกินมากที่สุด ทั้งกินสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก แกล้มกับลาบ ส้มตำ นำไปย่างเพื่อทำก้อยผักผายหรือผัดกับน้ำมันหอย ผัดเต้าเจี้ยว ทำยำ หากกินแบบสดจะได้รสหวานมันปนขม เพราะต้นผักพายมียางสีขาวอยู่แต่เมื่อผ่านความร้อนแล้วรสชาติจะหวานขึ้นและขมน้อยลง
2 พืชชนิดนี้เป็นผักสำคัญในพื้นที่หลายแห่งของอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ลาว, ภาrอีสาน (ไทย) และพื้นที่หลายแห่งของของอินเดีย โดยผักพาย100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 14 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยเส้นใย 0.8 กรัม แคลเซียม 7 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 2 มิลลิกรัม เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 501 ไมโครกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.08 มิลลิกรัม ไนอาซีน 1.2 มิลลิกรัม วิตามินซี 13 มิลลิกรัม
3 ทุกส่วนของผัก เมื่อฉีกส่วนลำต้น และใบ จะพบยางสีขาว โดยเฉพาะผักก้านจองจะเห็นชัด ส่วนผักพายเล็กจะเห็นชัดเฉพาะส่วนใบ ทั้งนี้ รสของลำต้น และใบอ่อนของผักทั้ง 2 ชนิด จะมีรสชาติเหมือนกัน คือ เมื่อเคี้ยวเริ่มแรกจะขมเล็กน้อย ต่อมาค่อยๆรู้สึกมีความหวาน ซึ่งมีสรรพคุณ มีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร ชนิดยาเย็น บางส่วนเช่นดอกมีฤทธิ์ร้อนได้ด้วย ผักพายสามารถช่วยแก้อาการท้องเสียได้ ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยลดไข้ แก้อาการปวดหัว วิงเวียนศรีษะ ขับเสมหะ รักษาแผลร้อนในในปาก เป็นยาระบาย ฟอกเลือด บำรุงผิวพรรณ โรคผิวหนัง รักษาแผลอักเสบ ลมพิษ ป้องกันรักษาริดสีดวงทวาร ป้องกันโรคลักปิดลักเปิด หรือเลือดออกตามไรฟัน ป้องกันตะคริว