ข้อควรระวังในการบริโภคกะเพรา
เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “ข้อควรระวังในการบริโภคกะเพรา”
กะเพราเป็นพืชสมุนไพร ที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น วิตามินซี แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และธาตุเหล็ก และยังมีสรรพคุณทางยา ในการช่วยย่อยอาหาร ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดความดัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการบริโภคสมุนไพรเพื่อหวังผลทางการรักษาโรคมีข้อควรระวังคือ
1 กะเพรามีอยู่ 2 ชนิด คือกะเพราขาว และกะเพราแดง หากต้องการนำไปใช้เป็นสมุนไพรทางเลือกควรใช้กะเพราแดง เพราะมีฤทธิ์ทางยาแรงกว่ากะเพราขาว และให้เลือกกะเพราที่ปลอดสารพิษ หากเป็นไปได้ควรปลูกเพื่อนำไปใช้เองดีที่สุด เพื่อลดการสะสมสารพิษจากสารเคมีจากยาฆ่าแมลง
2 สรรพคุณของใบกะเพราทำให้ร่างกายอบอุ่น เป็นพืชที่มีฤทธิ์ร้อน การกินกะเพรามากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการร้อนในได้
3 กะเพรามีสารเอสทราโก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ หากรับประทานกะเพราดิบ หรือน้ำมันที่สกัดจากกะเพราติดต่อกันเป็นเวลานาน
4 การบริโภคกะเพรา อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้ในบางคน และเนื่องจากกะเพรามีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นจึงไม่ควรบริโภคในประมาณมากก่อนวันเข้ารับการผ่าตัด หรือทานระหว่างที่กำลังบริโภคยาที่มีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือดอย่าง แอสไพริน เป็นต้น
5 ในทางทฤษฏี น้ำมันกะเพราหรือสารสกัดจากกะเพราอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำลงไปอีก ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำอยู่แล้ว
6 การใช้น้ำกะเพราเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ห้ามใช้ในสตรี มีครรภ์ หรือผู้ที่เป็นไข้ หากดื่มแล้วมีอาการตัวรุม หรือปากแห้ง คล้ายร้อนใน ซึ่งอาจพบได้ จากการกินขนาดที่สูงไปเล็กน้อย ให้ดื่มน้ำเยอะๆ และปรับอาหารมื้อต่อไป ให้มีผักรสขมเช่น มะระ จะทำให้ลดอาการข้างเคียงนี้ เมื่ออาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หายไป ให้หยุดรับประทาน
#ครัวคุณต๋อย #กะเพรา #กะเพราขาว #กะเพราแดง #โทษของกะเพรา #ประโยชน์ของกะเพรา #เคล็ดลับ