ข่าวสาร 24 มิ.ย. 63

บลินึย (Блины) แพนเค้กประจำชาติรัสเซียและประวัติศาสตร์อันยาวนาน

Share :


บลินึย (Блины) แพนเค้กประจำชาติรัสเซียและประวัติศาสตร์อันยาวนาน 

    ประเทศรัสเซีย ในความเข้าใจของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน หลายคนอาจจะไม่สนใจ แต่จะบอกว่าประเทศรัสเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่แสนลึกลับและน่าค้นหา ให้ความรู้สึกถึงกลิ่นไอของความ Unique และความเป็นชาตินิยมอย่างมาก อีกทั้งเรื่องอาหารการกินของชาวรัสเซียยังสอดแทรกมาซึ่งประวัติศาสตร์อันยาวนานและลึกลับ แม้ว่าอาหารรัสเซียซึ่งหลาย ๆ คนได้ลองกินแล้วอาจจะรู้สึกว่ารสชาติไม่ค่อยคุ้นลิ้นคนไทยสักเท่าไหร่นัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อาหารที่ชื่อว่า บลินึย (Блины) นี้ เป็นอาหารที่ผู้เขียนลองกินแล้วและคิดว่าน่าจะถูกปากคนไทยมากที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นหากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศรัสเซียก็อยากจะให้ลองกินอาหารรัสเซียอื่น ๆ ดูบ้างสักครั้งในชีวิต

     อาหารประจำชาติรัสเซียที่เรียกว่า บลินึย (Блины) หรือว่า แพนเค้กรัสเซีย ก็เป็นอาหารธรรมดา ๆ นี่แหละ แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนสนใจอยากจะนำมาเล่าให้ฟังเพราะว่า อาหารธรรมดาที่มีในทุกประเทศอย่างแพนเค้กนี้มันกลับแตกต่างจากที่อื่น เมื่อมันเป็นแพนเค้กประจำชาติของประเทศรัสเซีย

 บลินึย (Блины) คืออะไร 

    บลินึย ก็คือ ชื่อเรียกแพนเค้กชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นแผ่นแป้งบางๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติรัสเซีย นิยมกินเป็นอาหารคาวมากกว่าอาหารหวาน ซึ่งจะกินพร้อมกับซาวครีม โยเกิร์ต เนย หรือ ไข่ปลาคาเวียร์ 



ภาพจากเว็บไซส์ nfa .com

 ประวัติศาสตร์อันยาวนานของบลินึย

 ประวัติความเป็นมาของบลินึย หรือ แพนเค้กรัสเซียเป็นเรื่องที่ชวนสงสัยมากว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับความเชื่อของชาวรัสเซีย โดยประวัติการกำเนิดแพนเค้กในประเทศรัสเซียยังไม่มีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่จากข้อมูลที่หามาผู้เขียนจะสรุปให้ดังนี้

 บลินึย ถูกคิดค้นโดยชาวสลาฟตะวันออกในช่วงก่อนคริสตศักราช ซึ่งชาวสลาฟในสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวรัสเซียในปัจจุบัน พวกเขามีความเชื่อว่า บลินึยเป็นตัวแทนของพระอาทิตย์ เนื่องจากมีรูปทรงกลมและมีสีเหลืองคล้ายพระอาทิตย์ซึ่งให้ความอบอุ่นแก่พวกเขา พวกเขาจึงมักจะทำบลินึยขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนหมดฤดูหนาว ด้วยความเชื่อที่ว่า เป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ผ่านพ้นไปพร้อมกับฤดูหนาว และต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะมาพร้อมกับฤดูใบไม้ผลิ โดยการเฉลิมฉลองนี้ได้กลายมาเป็นประเพณีประจำชาติของชาวรัสเซียมาจนถึงปัจจุบันนี้ที่รู้จักกันในชื่อ เทศกาลมาสเลนนิตซ่า (Масленица) 



ภาพเว็บไซต์ sila-mesta .ru

    เทศกาลมาสเลนนิตซ่า (Масленица) หรือ เทศกาลแพนเค้ก ปัจจุบันนี้จะถูกจัดขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนหมดฤดูหนาว โดยจะมีการทำบลินึยหรือแพนเค้กเพื่อแจกจ่ายให้กับครอบครัว เพื่อนบ้านและญาติพี่น้อง เพื่อแสดงถึงการให้อภัยกัน รวมทั้งการเผาหุ่นฟางซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งชั่วร้าย ความโศกเศร้าและความหนาวเหน็บให้สลายไปพร้อมกับฤดูหนาวและเปิดรับสิ่งดี ๆ ที่จะเข้ามาพร้อมกับฤดูใบไม้ผลิ

 เทศกาลมาสเลนนิตซ่า จะใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ในการเฉลิมฉลอง โดยจะเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ดังนี้

 วันที่ 1 หรือ วันจันทร์ จะเรียกว่า วันพบปะ (Встреча) ชาวรัสเซียจะรีบกลับมาบ้านเพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัว 

และเตรียมบลินึย หรือ แพนเค้กเพื่อกินพร้อมกับครอบครัว และเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับขอทานหรือผู้ยากไร้อีกด้วย 

 วันที่ 2 หรือ วันอังคาร เรียกว่า วันแห่งการละเล่น (Заигрыци) เป็นวันที่ชาวรัสเซียจะชวนเพื่อนบ้านมากินบลินึยที่บ้านของตนเอง และเล่นเกมส์ หรือฉลองกัน อย่างเช่น การปั้นตุ๊กตาหิมะ 

 วันที่ 3 หรือ วันพุธ เรียกว่า วันแห่งการกิน (Лакомки) เป็นวันที่ทุกคนในหมู่บ้านจะเปิดบ้านเพื่อต้อนรับแขก และร่วมกินบลินึยด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นวันที่ฝ่ายแม่ยายจะเชิญลูกเขยมาทานแพนเค้กที่บ้านด้วย

 วันที่ 4 หรือ วันพฤหัสบดี เรียกว่า วันแห่งความสนุกสนาน (Разгул) เป็นวันที่มีการละเล่นแบบวัฒนธรรมพื้นบ้านต่าง ๆ ที่สนุกสนาน ซึ่งทุกคนสามารถเข้าร่วมงานได้

 วันที่ 5 หรือ วันศุกร์ เรียกว่า วันพบแม่ยาย (Тёщины вечерки) เป็นวันที่ลูกเขยจะเชิญแม่ยายมากินอาหารที่บ้าน โดยทำบลินึยไว้ต้อนรับ ซึ่งในสมัยก่อนมีความเชื่อหนึ่งว่า ถ้าหากลูกเขยละเลยธรรมเนียมนี้จะถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าวและไม่ให้เกียรติพ่อตา แม่ยาย

 วันที่ 6 หรือ วันเสาร์ เรียกว่า วันแห่งการชุมนุมพี่สะใภ้ (Золовкины посиделки) ในสมัยก่อนสำหรับคนที่แต่งงานแล้ว เป็นวันที่ผู้เป็นภรรยาจะเชิญญาติฝั่งสามีมากินข้าวที่บ้านของตัวเองเพื่อเป็นการผูกมิตร โดยเฉพาะกับพี่หรือน้องสะใภ้ เพื่อให้เกิดความยอมรับในฝั่งครอบครัวสามี แต่ความจริงแล้ว วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันรวมญาติวันหนึ่งเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกันเท่านั้น

 วันที่ 7 หรือ วันอาทิตย์ เรียกว่า วันอำลาเทศกาล หรือ วันอาทิตย์แห่งการให้อภัย (Проводы) ในวันนี้ทุกคนจะมารวมตัวกันเช่นเคยเพื่อสารภาพบาป ขอโทษในสิ่งที่เคยทำสิ่งไม่ดีไว้และให้อภัยซึ่งกันและกัน ในวันนี้จะมีพิธีกรรมอย่างการทิ้งบลินึยหรือแพนเค้กลงหลุมศพเพื่อเป็นการรำลึกถึงญาติพี่น้องที่จากไป และจะมีการเผาหุ่นฟางกันในวันนี้เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายในฤดูหนาว และการเผาหุ่นฟางนี้ก็เป็นเครื่องหมายของการสิ้นสุดเทศกาลมาสเลนนิตซ่า 




ภาพเว็บไซต์ vsluh .ru


 นอกประวัติศาสตร์ที่กล่าวมานี้ ก็ยังความเชื่อเกี่ยวกับแพนเค้กอีกเรื่องหนึ่ง นั้นคือการทำบลินึยหรือแพนเค้กที่เรารู้จักนี้ ในสมัยอดีตชาวรัสเซียเชื่อว่าต้องเป็นความลับ ห้ามให้ใครเห็นขั้นตอนการทำบลินึย บางคนถึงขั้นออกไปเตรียมแป้งข้างนอกบ้านเวลาดึก ๆ เพราะเชื่อว่า แสงจากพระจันทร์ที่ส่องลงมาที่แป้งนั้นเป็นเคล็ดลับที่จะทำให้บลินึยมีสีนวลและอร่อยเป็นพิเศษ



ภาพจากเว็บไซต์ photorecept.ru 


 อ่านมาถึงตรงนี้ก็ทำให้เรารับรู้เรื่องราวที่แสนลึกลับของบลินึยกันไปแล้ว หลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้มีโอกาสไปประเทศรัสเซียแต่ก็อยากลองกินอาหารรัสเซียกันใช่ไหมคะ ผู้เขียนเลยจะมาแนะนำร้านอาหารรัสเซียในประเทศไทยที่มีชื่อว่า The moon under water เห็นชื่อร้านแล้วถึงกับรู้สึกลึกลับขึ้นมาทันทีแถมร้านนี้ยังตั้งอยู่แบบลับ ๆ บนชั้นสองของตึกคูหาเล็ก ๆ ที่ชั้นล่างเป็นร้านอาหารตามสั่ง เวลาจะหาร้านต้องคอยถามคนแถวนั้นว่า “อลิช่า อยู่ไหน” ซึ่ง อลิช่าเป็นชื่อของเชฟรัสเซียของร้านนี้นั้นเองค่ะ ร้าน The moon under water จะเป็นแบบฟู้ดแล็บ หรือแบบ ครัวเปิดเพื่อให้ลูกค้าเห็นการทำอาหาร ร้านนี้ถึงจะเป็นเพียงแค่ร้านเล็ก ๆ แต่ก็มีกลิ่นไอของอาหารรัสเซียผสมผสานไปกับแนวตะวันออก ผู้อ่านคนไหนสนใจร้านนี้ ลองไปทานดูได้ที่ The moon under water ซอย สุขุมวิท 48 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ   

สุดท้ายแล้วผู้เขียนอยากจะกล่าวว่า “อาหาร” แท้ที่จริงแล้วก็คือ ภาพสะท้อน ของชีวิตประจำวัน ในทุก ๆ ชนชาติ การที่ในปัจจุบัน เราเห็นอาหารต่างชาติอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ก็สะท้อนความจริงที่ว่าประเทศเรารับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาอย่างเต็มใจ เรื่องเล่าวัฒนธรรมผ่านอาหารสะท้อนความจริงอีกข้อที่ว่า เรายิ่งต้องรักษาตัวตน ของอาหารไทยมิให้สูญหาย


ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก 

คณะศิลปะศาสตร์ สาขาวิชารัสเซียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เว็บไซต์ Rayal thai navy, nfa, sila-mesta.ru, photorecept.ru, vsluh .ru, the standard