จริงรึเปล่า คนไทยรอไม่ได้?
จริงรึเปล่า คนไทยรอ(เพื่อกิน) ไม่ได้?
ประเทศไทย “สยามเมืองยิ้ม” The Land of Smile จนถึงตอนนี้ ผู้เขียนก็ยังเชื่อว่า จุดเด่นของพวกเราก็คือรอยยิ้มนี่แหละครับ เราชอบเทศกาล ความสนุก และ การสังสรรค์เป็นที่สุดครับ
แต่หากพูดถึงคุณสมบัติ “ความอดทน ความขยัน และทำงานหนัก” ส่วนตัวผมมักจะนึกถึงคนญี่ปุ่นครับ โดยหนึ่งในวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นที่ผมสังเกตุ และ รู้สึกทึ่ง ในความโดดเด่น และแตกต่างจากวัฒนธรรมของคนไทยเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการ “รอ” ครับ
ความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการ ”รอ” แต่ทุกการ “รอ” ไม่ได้การันตีความสำเร็จครับ
ผู้เขียนเคยเห็นทั้งจากรายการทีวี นิตยสาร หรือ รายการออนไลน์หลากหลาย ของสื่อทางญี่ปุ่นที่แสดงให้เห็นคิวที่ยาวเหยียด ของลูกค้าที่ “รอ” เพื่อไปนั่งรับประทานอาหาร หรือ ซื้ออาหารธรรมดา ๆ เช่น ขนมปังแถว หรือ พุดดิ้ง ในร้าน
แน่นอนครับในประเทศไทยก็มี ร้านคิวยาว เหมือนกัน แต่เวลาคนไทยเห็นเรื่องแบบนี้ จะรู้สึกทึ่งรู้สึกถึงความเป็นกระแส ซึ่งพอเป็นกระแส มาแป๊บเดียวก็หายไป เรียกว่าพอคนไทยเห็นคิวยาวก็ต้องไปลอง คนไทยชอบกระแสครับ
บ่อยครั้งที่ คิว ยาว ๆ ที่เห็นในบ้านเรามักเกิดจากร้านที่จัดโปรโมชัน หรือ ร้านบุฟเฟต์ แต่บ่อยครั้งแค่ไหนที่เราเห็นการ “รอ” หลาย ๆ ชั่วโมง เข้าร้านอาหารไทยธรรมดา ๆ กันบ้างครับ
แต่ที่ญี่ปุ่น เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ร้านคิวยาว คนยืนรอกันสองสามชั่วโมง เพื่อกิน ราเมง หรือ ซูชิ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป แน่นอนครับ ร้านกระแสก็มี แต่ที่คิวยาวตลอดกาลก็มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติครับ
ผู้เขียนตื้นตันใจแทนเจ้าของร้านที่คนไปรอกินอาหารครับ ทุกชาติต่างมีบุคลิกและความแตกต่างกัน คนญี่ปุ่นอดทนรอ คนไทยแบบผมยังไม่เคยไปรอคิวนานสอง สาม ชั่วโมงแบบนั้น เห็นแล้วได้แต่ทึ่งครับ
เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเคยได้ยินและรู้สึกถึงความแตกต่างเรื่องหนึ่งจากต่างประเทศ ก็คือ การลุกให้เด็ก ๆ หรือ ผู้สูงอายุ นั่งในรถสาธารณะของบางประเทศ (เช่น ญี่ปุ่น หรือ เยอรมันครับ) ในบางประเทศผู้คน (อาจ) จะไม่ลุกให้เด็ก ๆ หรือ ผู้สูงอายุ นั่งครับ ไม่ใช่ว่าเพราะเค้าไร้น้ำใจหรอกครับ แต่เพราะนั่นคือการฝึกความอดทนและการเคารพต่อผู้อื่นในแบบของเค้าครับ การเป็นเด็กมิได้หมายความว่า จะต้องสบายกว่าผู้ใหญ่ การเป็นผู้สูงอายุก็ไม่ได้แปลว่าเค้าอ่อนแอเกินกว่าที่จะยืนในรถสาธารณะครับ วัฒนธรรมด้านความรับผิดชอบ ด้านความเท่าเทียม จึงถูกปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัยจวบจนมาถึงการเขาสู่วัยสูงอายุ หากเด็กอนุบาล นักเรียน พนักงานบริษัท หรือ คุณปู่ คุณย่า ตื่นสาย ก็ต้องยืนในรถไฟ หรือ รถเมล์ ถ้าอยากนั่งก็อาจจะต้องตื่นเช้ากว่าคนอื่น การเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้แปลว่า ต้องเสียสละในทุกกรณีครับ
ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องแปลก (ในความคิดของผู้เขียน) หากผู้ใหญ่จะไม่ลุกให้เด็ก ๆ หรือ ผู้สูงอายุนั่งในรถสาธารณะ การกระทำแบบนั้นอาจถูกมองได้ว่าคือ ความไร้น้ำใจ แต่ผมคงไม่สามารถพูดได้ว่าแบบไหนดีกว่ากันครับ ไทยก็แบบไทย เค้าก็แบบเค้า
กลับมาเรื่องอาหารการกิน ประเทศไทยขึ้นชื่อระดับโลก เรื่องอาหาร และ การบริการ หากต้องให้ลูกค้ารอ นั่นถือเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยเอามาก ๆ เราจึงอาจจะไม่ค่อยเคยชินกับการรอรับประทานอาหารเท่าไหร่ หรือ อาจจะเป็นเพราะอากาศบ้านเราร้อนและชื้น(มาก) แตกต่างจากอากาศในประเทศที่มีหน้าหนาวแบบจริงจัง เช่น ญี่ปุ่น การยืนรอท่ามกลางอากาศร้อน ๆ ในประเทศไทย เพียงเพื่อกิน ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม จึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเห็น
ในประเทศญี่ปุ่น ร้านอาหารที่มีคิวยาว จนลูกค้าต้องยืนรอ 2-3 ชั่วโมงท่ามกลางหิมะ หรือ แดดร้อนเปรี้ยง ๆ จริง ๆ แล้วเค้าก็สามารถขยายร้านได้ จะได้รับรองลูกค้าได้มากขึ้น แต่ร้านจำนวนมากกลับไม่ยอมทำแบบนั้น เหตุผลหลัก ๆ น่าจะเป็นเพราะร้านต้องการรักษาคุณภาพของอาหารให้ดีที่สุดครับ
ในระยะหลัง ๆ ผู้เขียน “เริ่ม” เห็น การรอที่มากขึ้น และการ “รอ” ที่ลดลงอย่างมากในประเทศไทย ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน (บางครั้งนอกจากไม่รอแล้ว ลูกค้ายังแทบไม่ต้องขยับตัวเลยครับ) เรียกได้ว่า มีดำก็ต้องมีขาว มี รอ ก็ต้องมี เร็ว ขี้เกียจออกก็ใช้แอพฯ เอา
คุณค่าของอาหารถูกให้ค่าต่างกันตามแต่ละบุคคลครับ บางคน คุณภาพอาหารสำคัญที่สุด ให้รอนานแค่ไหนก็ยอม สำหรับบางท่าน คุณค่าคือ ความสะดวกสบายครับ
ในความเห็นของผู้เขียน อาหารไทยนั้น ถูกหล่อหลอมมาจากวัฒนธรรมทางการเกษตร ทำเกษตรด้วยกัน กินด้วยกัน ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ที่ไหนก็มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ การ “รอเพื่อกิน” สำหรับคนไทยจึงอาจจะไม่ค่อยคุ้นชินเท่าไหร่
เมื่อสังคมเจริญมากขึ้น การกิน จึงมิใช่กิจกรรมเพียงเพื่ออิ่ม สำหรับคนบางกลุ่ม การเสพรสชาติอาหาร หรือ การดื่มดำบรรยากาศในร้านอาหาร จึงเกิดขึ้น ไม่ต่างจากการเสพงานศิลป์
แล้วคุณผู้อ่านคิดอย่างไรกันบ้างครับ…
มีร้านไหนในประเทศไทยที่คุณผู้อ่านคิดว่าคู่ควรกับการ “รอ” ไม่ว่าจะนานแค่ไหนกันบ้างครับ ถ้ามีแนะนำครัวคุณต๋อยกันบ้างนะครับ