ข้อควรระวังในการรับประทานช็อกโกแลต
เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต่อย ตอน “ข้อควรระวังในการรับประทานช็อกโกแลต”
ช็อคโกแลตแบบที่รับประทานแล้วดีต่อสุขภาพที่สุด คือ ดาร์กช็อคโกแลต ที่ผลิตจากผลโกโก้ ซึ่งมีปริมาณของโกโก้สูง 70-85% โดยแนะนำให้รับประทาน 50- 100 กรัม ต่อวัน ความถี่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจ อย่างไรก็ตามช็อกโกแลตมีข้อควรระวังในการรับประทานบางอย่างที่ต้องพึงระวังเช่นกัน
1 ปริมาณไขมันและน้ำตาลที่มีสูงในช็อกโกแลต คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มได้ อีกทั้งทำให้ร่างกายอาจมีไขมันส่วนเกินสะสมมากจนเกิดภาวะอ้วน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
2 น้ำตาลในช็อกโกแลตยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดฟันผุได้ ซึ่งเป็นผลมาจากคราบช็อกโกแลตที่ติดอยู่ตามซอกฟัน
3 เพิ่มโอกาสเป็นไมเกรน เนื่องจากสารฮิสตามีน สารไทรามีน และสารฟีนิลอะลานิน ที่มีอยู่ในเมล็ดโกโก้ มีส่วนทำให้โอกาสเป็นโรคไมเกรนสูงขึ้นได้
4 มีสารเคเฟอีน ช็อคโกแลตก็มีส่วนผสมของสารเคเฟอีนและสารทีโอโบรมีน ที่อาจทำให้นอนหลับยากขึ้น แม้จะมีปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้ที่ไวต่อสารคาเฟอีน
5 โลหะหนัก เช่น ตะกั่วและแคดเมียมในดาร์กช็อกโกแลต เป็นโลหะหนักที่เป็นพิษต่อระบบประสาท และทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมถึงโรคมะเร็ง ตลอดจนปัญหาการสืบพันธุ์และพัฒนาการในเด็ก องค์การอนามัยโลกระบุว่า เด็กมีความเสี่ยงเป็นพิเศษจากโลหะหนักในช็อกโกแลต เนื่องจากร่างกายของเด็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วที่กินเข้าไปได้ทั้ง 100% หากกินในขณะท้องว่าง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาพัฒนาการทางสมองและทำลายระบบประสาท และลดไอคิวของเด็กลงได้
6 ปรกติแล้วร่างกายของเราสามารถขับโลหะหนักออกจากร่างกายได้ เช่น เหงื่อและปัสสาวะ ดังนั้นจึงสามารถกินช็อกโกแลตได้ในปริมาณไม่มาก แต่สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยบางประเภท ควรหลีกเลี่ยง